อุณหภูมิของไข่กำหนดเพศ

รักษาไข่ไว้ให้อุ่น
สำหรับสัตว์เลื้อยคลานที่มีเลือดเย็น การรักษาอุณหภูมิในระยะฟักไข่ต้องใช้วิธีการพิเศษ เช่นเดียวกับนกบางชนิด

อุณหภูมิของไข่กำหนดเพศ
จระเข้ในอเมริกาเป็นสัตว์เลือดเย็นเช่นเดียวกับสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ ดังนั้นตัวเมียจึงไม่สามารถกกไข่ให้ฟักเป็นตัวได้ มันจึงต้องสร้างที่ฟักไข่ขึ้นทำหน้าที่แทน โดยมันจะใช้หางโกยใบไม้ใบหญ้ามากองไว้แล้วหมกไข่ไว้ในนั้น เมื่อกองใบไม้เริ่มสลายตัวเน่าเปื่อยเหมือนกองปุ๋ยหมักในสวน กองปุ๋ยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับฟักไข่ คือ 37 ํซ
วิธีนี้แก้ปัญหาในการฟักไข่ได้ แต่ผลก็ยังไม่น่าพอใจนัก เพราะแม้อุณหภูมิในกองใบไม้จะเปลี่ยนไปเพียงไม่กี่องศา แต่ก็อาจส่งผลอย่างมากต่อขนาดตัวและพลังชีวิตของลูกจระเข้ คือ ไข่ที่ได้รับอุณหภูมิต่ำเกินไปจะโตช้า เพราะตัวอ่อนต้องใช้อาหารส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในไข่นั้นเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ครั้นเมื่อฟักเป็นตัว จึงมีขนาดเล็กกว่าตัวที่ฟักออกจากไข่ ที่ได้รับอุณหภูมิที่เหมาะสม

ระเข้ได้มีวิวัฒนการ เพื่อปรับตัวให้สามารถรับสภาวะที่ไม่อาจคาดล่วงหน้าได้นี้ ขนาดร่างกายของจระเข้ตัวเมียนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะถึงแม้ว่าแม่จระเข้ที่ตัวเล็กจะผลิตไข่ได้น้อยฟองกว่าแม่จระเข้ตัวใหญ่ไปตามส่วน แต่อย่างน้อยก็ยังผลิตไข่ได้บ้าง แต่สำหรับตัวผู้นั้นขนาดร่างกายนับว่าสำคัญมาก ตัวผู้ขนาดใหญ่ย่อมชนะการต่อสู้อันโหดร้ายในต้นฤดูผสมพันธุ์และได้ตัวเมียไปมากที่สุด ขณะที่ตัวผู้ขนาดเล็กอาจไม่ได้ผสมพันธุ์เลย

เพื่อให้แน่ใจว่าลูกของมันมีโอกาสสูงสุดที่จะได้สืบทอดสายพันธุ์ต่อไปด้วยดี แม่จระเข้จึงต้องการให้ลูกที่ตัวใหญ่เป็นตัวผู้ และลูกตัวที่เล็กกว่าเป็นตัวเมียและในความเป็นจริง เพศของลูกจระเข้ถูกกำหนดโดยอุณหภูมิยามฟักไข่ ไข่ที่เจริญเติบโตในสภาวะฟักไข่อันอบอุ่นดีเยี่ยมจะเป็นตัวผู้ขนาดใหญ่ แต่ไข่ที่ฟักในอุณหภูมิอันเย็นกว่าจะเป็นตัวเมียขนาดเล็กกว่า โดยลูกที่ออกมาจะมีตัวผู้หนึ่งตัว ต่อตัวเมียห้าตัว


เช่นเดียวกับจระเข้ เพศของเต่าบกก็กำหนดโดยอุณหภูมิของไข่ แต่ให้ผลตรงข้ามกับไข่ของจระเข้ คือไข่เต่าที่เจริญเติบโตในอุณหภูมิอันเหมาะสมจะฟักเป็นตัวเมียขนาดใหญ่ ส่วนไข่ที่ฟักในอุณหภูมิอันต่ำกว่าจะออกมาเป็นตัวผู้ขนาดเล็ก

สำหรับเต่าตัวผู้ การมีขนาดใหญ่เกือบไม่มีประโยชน์อะไร เพราะการต่อสู้กันในหมู่เต่านั้นนับว่ามีน้อยมาก และเต่าส่วนใหญ่ล้วนมีโอกาสได้ผสมพันธุ์ แต่ทว่าสำหรับเต่าตัวเมีย การมีขนาดใหญ่ย่อมมีประโยชน์แน่นอน แม่เต่าจะบรรทุกไข่ไว้ในร่างกายได้เป็นจำนวนมากเท่าใดนั้นก็ย่อมขึ้นอยู่กับขนาดของกระดอง เต่าตัวเมียขนาดใหญ่จึงวางไข่ได้มากกว่าขนาดเล็ก และเช่นเดียวกัน การกำหนดเพศด้วยอุณหภูมิช่วยให้เต่าแน่ใจว่าลูกของมันมีโอกาสดีที่สุดที่จะสืบสายพันธุ์ต่อไป

สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ "ทำสวน" เพื่อกกไข่คือ นกแมลลีในออสเตรเลีย มันฟักไข่โดยหมกไว้ในกองใบไม้หรือกองปุ๋ยหมัก มันสร้างกองใบไม้สูงถึง 1 เมตร กว้างประมาณ 5 เมตร โดยรวบรวมใบไม้และดินถึงประมาณ 4 ตัน แม่นกวางไข่ถึง 30 ฟองไว้ในใจกลางกองปุ๋ยแล้วจากไป ส่วนพ่อนกกลบไข่แล้วคอยเฝ้าอยู่ พ่อนกจะคอยวัดอุณหภูมิของรังอยู่ตลอดเวลาโดยการแหย่ปากเข้าไปในรังอยู่บ่อยๆ อุณหภูมิอันเหมาะสมคือประมาณ 33 ํซ ไข่ใช้เวลาฟักเพียง 7 สัปดาห์ แต่กระบวนการทั้งหมดทำให้ตัวผู้ต้องมีงานวุ่นอยู่ถึง 11 เดือนต่อปี