เมื่อพ่อคือผู้เลี้ยงลูก
ในหมู่สัตว์บางชนิด ตัวเมียปัดภาระให้ตัวผู้เลี้ยงลูกแทน เป็นการแก้ปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่อย่างชาญฉลาด
ในหมู่สัตว์บางชนิด ตัวเมียปัดภาระให้ตัวผู้เลี้ยงลูกแทน เป็นการแก้ปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่อย่างชาญฉลาด
ม้าน้ำตัวผู้ "ตั้งท้อง"
มีพ่อสัตว์น้อยชนิดนักที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันลูกอ่อน ดังเช่นม้าน้ำที่กกไข่ไว้ในถุงหน้าท้อง
ม้าน้ำตัวเมียวางไข่หลายพันใบลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ ตัวผู้จะผสมน้ำเชื้อเข้าไปแล้วปกป้องตัวอ่อนไว้จนฟักเป็นตัว เยื่อบุถุงจะปล่อยอาหารเหลวออกมาเลี้ยงตัวอ่อนที่กำลังเติบโต ประมาณ 2 สัปดาห์ต่อมาถุงก็จะบีบรัดตัวอย่างต่อเนื่อง ดันฝูงม้าน้ำตัวน้อยออกมาดูโลก
ม้าน้ำอาจเป็นตัวอย่างที่เรารู้จักดีที่สุดในเรื่อง "การตั้งท้อง" ของตัวผู้ แต่การปรับบทบาทเช่นนี้ก็มีวิวัฒนการอยู่ในหมู่เครือญาติของมันด้วย รวมถึงปลาไพป์จมูกโต ซึ่งอยู่ตามพงหญ้าอีลกราสส์ นอกชายฝั่งตะวันตกของสวีเดน นักชีววิทยาที่ศึกษาปลาชนิดนี้พบว่า มันมีการกลับบทบาททางเพศที่เกือบสมบูรณ์
สำหรับสัตว์ส่วนใหญ่นั้น ตัวผู้เป็นฝ่ายเริ่มเกี้ยวพานและจับคู่ผสมพันธุ์ ส่วนตัวเมียเป็นฝ่ายเลือกตัวผู้เพื่อผสมพันธุ์ แต่ในกรณีของปลาไพป์ ตัวผู้ไม่เคยมีจำนวนมากพอที่จะช่วยดูแลกกไข่ของตัวเมียได้หมดทุกตัว ตัวผู้จึงเป็นที่ต้องการของตัวเมียอย่างมาก ดังนั้นตัวเมียจึงกลับต้องเป็นฝ่ายเกี้ยวพานตัวผู้
จากท้องพ่อ ม้าน้ำตัวผู้ส่งลูกน้อยออกสู่โลกกว้าง ม้าน้ำจะล่องไปตามกระแสน้ำและผสมพันธุ์เมื่อตัวเมียเข้าเกี่ยวตระหวัดรอบตัว ตัวผู้แล้ววางไข่ลงในถุงกกไข่หน้าท้อง